Thai  Thai

ประเพณีผีตาโขน เลย

ประเพณีผีตาโขน เลย
ประเพณีผีตาโขน เลย

ผีตาโขน ตำนานเรื่องเล่า ผีตาโขน

     ที่มาของผีตาโขน นับเป็นอุบายอันแยบคายเฉพาะของบรรพบุรุษเมืองด่านซ้ายให้เด็ก ๆ ในเมืองเล่นสนุกกันเป็นการส่งท้ายงานบุญ โดยจับเอา เวสสันดรชาดก พระชาติที่ 10 ที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าในตอนที่พระเวสสันดรจะได้กลับคืนพระนคร บรรดาผีป่าทั้งหลายต่างพากันมาส่งเสด็จจนถึงในเมือง เมื่อเข้าเมืองด้วยความเป็นผีป่าไม่เคยเข้าเมือง ก็เลยออกพากันตระเวณเที่ยวเมือง โดยไม่ได้ทำอันตรายใคร แต่ด้วยความที่เป็นผี เมื่อชาวเมืองไปพบเข้าจึงตกใจกลัว สัญชาตญาณผีก็อดที่จะแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกชาวบ้านไม่ได้
     เมื่อได้เวลาบรรดาผีป่าก็จะพากันออกนอกเมืองกลับคืนสู่ป่า พร้อม ๆ กับนำพาความโชคร้ายและทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงออกจากเมืองไปด้วย
     ประเพณีแห่ผีตาโขน เป็นงานประเพณีเล็ก ๆ ที่เล่นกันอยู่ในขอบเขตอำเภอเล็ก ๆ คืออำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย แต่ด้วยรูปแบบและเนื้อหาของงานที่เป็นเรื่องผี ๆ แต่เป็นผีน่ารักน่าสนุกจึงน่าสนใจยิ่งสำหรับมนุษย์ งานเล็กจากอำเภอเล็ก ๆ งานนี้ สุดท้ายจึงก้าวออกไปเป็นงานประเพณีที่เชิดหน้าชูตาของภูมิภาคอีสาน และกลายเป็นงานประเพณีระดับชาติ ทุกปีจะมีชาวต่างประเทศจากทั่วโลกเดินทางไปเที่ยวชมงานผี ๆ งานนี้กันปีละไม่ใช่น้อย
     งานประเพณีแห่ผีตาโขน เป็นการรวมงานสำคัญของท้องถิ่นสามงานเข้าด้วยกันคือ งานบุญผะเหวด หรือบุญพระเวส อันเป็นงานฉลองการฟังเทศน์มหาชาติ งานแห่ผีตาโขน และงานบุญบั้งไฟ เข้าด้วยกัน
รูปแบบประเพณี

     งานประเพณีแห่ผีตาโขน ผูกพันแนบแน่นกับองค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองคือ องค์พระธาตุศรีสองรักษ์ ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยพระมหาจักรพรรดิฝ่ายกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุด เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงมิตรภาพระหว่างกัน
     วงจรของประเพณีผีตาโขน เริ่มต้นขึ้นโดยบุคคลศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสองคนคือ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ที่มีฐานะเป็นดังผู้วิเศษหมอผี และครูใหญ่ของเมืองที่มีหน้าที่หลักในการดูแลองค์พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุคู่เมืองด่านซ้ายโดยเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นวงจรของประเพณีนี้เริ่มต้นจากพิธีบายศรีที่บ้านของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมในภาคเช้า และระหว่างที่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กำลังดำเนินอยู่นั่นเอง เด็ก ๆ ในทุกบ้านเรืองของเมืองด่านซ้ายก็จะช่วยกันจัดหาเศษผ้ามาเย็บเป็นเสื้อผ้าของผีตาโขน หาอุปกรณ์คือหวดนึ่งข้าวเหนียวและแกนก้านมะพร้าวมาทำหน้ากากผีตาโขนด้วยการวาดลวดลายเพิ่มสีสันเป็นผีตาโขนที่หน้าตาโหดร้ายน่ากลัว หา "หมากกะแหล่ง" หรือกระดึงผูกคอวัวควายมาทำเป็นเครื่องประดับ และที่สำคัญที่สุดที่ผีตาโขนหลายตัวประณีตบรรจงประดิดประดอยเป็นที่สุดก็คือ อาวุธของผีตาโขนเป็นดาบใหญ่ ทำด้วยไม้มีทีเด็ดของดาบอยู่ที่ปลายด้ามดาบที่ทำเป็นรูปปลัดขิกอันโต ทายอดกลม ๆ เป็นสีแดงแจ๋ เอาไว้ไล่จิ้มสาว ๆ ในเมือง โดยเฉพาะในภาคบ่ายจะเป็นพิธีการในฝ่ายราชการ เป็นการแห่ผีตาโขน โดยจัดรูปขบวนแห่ อันประกอบด้วยผีตาโขนใหญ่ ที่ทำเป็นหุ่นใหญ่คล้ายหัวโตของภาคกลาง และผีตาโขนเล็ก เป็นเด็ก ๆ ผู้ชายในเมืองเกือบทั้งหมด ภาคค่ำเป็นการชุมนุมกันฟังเทศน์มหาชาติของผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ใหญ่ในเมือง
     ส่วนในวันที่สอง ตั้งแต่เช้าเป็นการออกอาละวาดไปทั่วเมืองของชาวผีตาโขน และตกช่วงบ่ายจะเป็นพิธีจุดบั้งไฟขอฝน เป็นอันหมดสิ้นประเพณีแห่ผีตาโขนรวม 2 วันกับหนึ่งคืนด้วยกัน

จุดเด่นของพิธีกรรม
     จุดเด่นที่สุดของงานนี้จะมีอยู่ด้วยกันสองช่วง คือ ภาคบ่ายวันแรกอันเป็นขบวนแห่ผีตาโขนอันน่าสนุกสนานและสวยงาม และวันที่สองช่วงสายที่ผีตาโขนจะออกอาละวาดไปทั่วเมือง จัดขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย ในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี หลังจากงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักแล้ว
คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ขอบคุณข้อมูลจากเวป http://www.ku.ac.th/

 

http://youtu.be/d-xARrDjrhE
Thai
© 2024 สงวนลิขสิทธิ์โดย บริษัทไทยทัวร์อินโฟ จำกัด โทร 02-1641001-2 email sales@choowap.com